วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กิจกรรมสร้างสรรค์

กิจกรรมสร้างสรรค์ (Creative Activities)
บทนำ
                 กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเพื่อพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ การรับรู้ความงาม ให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์หรือ ความรู้สึก ความคิดริเริ่มสร้าง สรรค์ และจินตนาการโดยใช้ศิลปะสำหรับเด็กหลากหลายแบบ เช่น การเขียนภาพ การปั้น การฉีกปะ การตัดปะ การพิมพ์ภาพ การปั้น การร้อย การประดิษฐ์ หรือวิธีอื่นๆ ที่เด็กสามารถจะคิดสร้างสรรค์ได้และมีความเหมาะสมตามวัยของเด็ก


กิจกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร?
                       วิทยาการทางด้านสมองทำให้เราทราบได้ว่า คนเรามีศักยภาพทางการคิด เกิดจากสมองทั้ง 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวาของเราทำงานและพัฒนาการคิดตัดสินใจ และคิดสร้างสรรค์ สมองทั้งสองซีกจะทำงานเชื่อมโยงไปพร้อมกันในทุกกิจกรรมการคิด การพัฒนาสมองของเด็กจึงจัดผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้สมองทั้งสองซีกทำงานสมดุล กิจกรรมสร้างสรรค์จึงเป็นกิจกรรมที่จะช่วยเชื่อมโยงการทำงานของสมองและพัฒนาจินตนาการซึ่งสัมพันธ์กับประสบการณ์ของเด็ก เด็กจะแสดงออกมาเป็นภาพ รูปร่าง และรูปทรง จึงเป็นโอกาสที่เด็กจะได้ฝึกสมองจากกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีหลากหลายแบบ เป็นการให้เด็กกระทำ และสังเกตซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ตรงให้เด็ก เด็กจะเกิดความสามารถในการพัฒนาความคิดรวบยอดและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้ต่อไป อีกทั้ง กิจกรรมสร้างสรรค์ยังสามารถพัฒนาจิตเด็กได้อย่างมีคุณภาพ คือให้เป็นผู้มีความอดทนเพราะต้องสร้างสรรค์ผลงานของตนจนสำเร็จ จะสร้างความภูมิใจต่อตนเองหรือสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองได้ เนื่องจากการเปิดโอกาสให้เด็กพึ่งตนเองในการทำสิ่งต่างๆ ตามความสามารถ เป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงความมีคุณค่าในตนเอง เด็กจะเป็นผู้มีความมั่นใจและกล้าที่จะผจญปัญหา ในขณะเดียวกัน เด็กจะได้รับการพัฒนาทางสังคม เพราะเด็กจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อน เด็กจึงเรียนรู้การแก้ปัญหาการทำงาน รู้จักปรับปรุงหรือเปลี่ยน แปลงตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม เมื่อเด็กสร้างผลงานสิ้นสุดแล้ว การชักชวนให้เด็กชื่นชมผลงานของตนเอง เป็นการปลูกจิตสำนึกเด็กให้เห็นคุณค่าของศิลปะที่ตนสร้างขึ้น และฝึกฝนการแสดงความชื่นชมในความสวยงาม สร้างความเพลิดเพลินและความสุขจากสิ่งใกล้ๆ ตัวเด็กเอง


กิจกรรมสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร?
                        การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดสาระการเรียนรู้ไว้ ซึ่งประกอบเป็น 2 ส่วน คือ ประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ ทั้งสองส่วนใช้เป็นสื่อกลางในการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยครอบคลุมพัฒนาการเด็ก 4 ด้านดังนี้ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อเล็ก จากการเขียนภาพและการเล่นสี เช่น กิจกรรมเขียนภาพด้วยสีเทียน สีน้ำ เป่าสี ทับสี ปั้นดินเหนียว ดินน้ำมัน งานประดิษฐ์จากเศษวัสดุ เป็นต้น ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ เป็นประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ เด็กมีโอกาสชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม เช่น กิจกรรมเขียนภาพตามความคิดสร้างสรรค์ แสดงความคิดเห็นต่อผลงานศิลปะ ฯลฯ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม เป็นประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้ทางสังคม ด้วยการเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการวางแผน ตัดสินใจเลือกและลงมือปฏิบัติ ให้เด็กมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึก ความสนใจ ความต้องการของตนเองและผู้อื่น เช่น การเลือกทำกิจกรรมศิลปะตามความสนใจ การฟังความคิดเห็นของเด็กคนอื่น การรู้จักรอคอยที่จะใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น การรู้จักแบ่งปันวัสดุ ของใช้ เป็นต้น ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นประสบการณ์ที่ส่งเสริมความคิดของเด็ก เกี่ยวกับการรับรู้ และการแสดงความรู้ผ่านสื่อ วัสดุ และผลงาน เช่น การวาดภาพ ระบายสี ปั้นดิน ประดิษฐ์ ส่งเสริมด้านการใช้ภาษาและด้านการเขียนในหลายรูปแบบผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายต่อเด็ก และการสื่อความหมายของมิติสัมพันธ์ด้วยภาพวาด เช่น การให้เด็กเขียนภาพนิทาน วาดภาพด้วยสีเทียน สีน้ำ เป็นต้น



ครูจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ลูกที่โรงเรียนอย่างไร?
                     กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ครูจัดให้เด็กที่โรงเรียนเป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระผ่านการสร้างสรรค์งานจากกิจกรรมที่หลากหลายแบบที่ครูจัดให้วันละ 3-5 กิจกรรม และเด็กมีโอกาสเลือกทำอย่างน้อยวันละ 1-2 กิจกรรม ตามความสนใจ คือกิจกรรมงานปั้น ได้แก่ ปั้นดินเหนียวหรือแป้งโด ดินน้ำมัน เป็นต้น กิจกรรมวาดภาพระบายสี ทั้งสีน้ำ สีเทียน สีดินสอ ได้แก่ หยดสี เทสี ระบายสี เป่าสี ละเลงสีด้วยนิ้วมือ หรือส่วนต่างๆ ของมือหรือ พิมพ์ภาพ เป็นต้น กิจกรรมงานกระดาษ ได้แก่ ฉีก พับ ตัด ปะ กระดาษ เป็นต้น กิจกรรมประดิษฐ์จากวัสดุต่างๆ และของเหลือใช้ ได้แก่ ประดิษฐ์กระทงใบตอง ประดิษฐ์หน้ากากจากจานกระดาษ เป็นต้น
แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น