วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กิจกรรมกลางแจง

กิจกรรมกลางแจ้ง (Outdoor Activities)






บทนำ
กิจกรรมกลางแจ้งเป็นกิจกรรมที่การศึกษาปฐมวัยจัดขึ้นนอกห้องเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหว ได้แสดงออกอย่างอิสระ ได้ออกกำลัง เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ แขน ขา และลำตัว ให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนกิจกรรมกลางแจ้งมีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร?
สถานศึกษาปฐมวัยจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อมุ่งพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ต้านสติ ปัญญา และด้านสังคมให้แก่เด็กปฐมวัย ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 และกำหนดกิจกรรมกลางแจ้งเป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญไว้ในตารางกิจกรรมประจำวันที่เด็กจะต้องได้รับการส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกาย ผ่านการเล่นหลากหลายแบบโดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็กเจริญเติบโตเหมาะสมตามวัย มีสุขนิสัยที่ดี ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้คล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข กิจกรรมกลางแจ้งมีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร?
การออกกำลังกายมีคุณค่าต่อชีวิตซึ่งแพทย์ นักการศึกษา นักกีฬา และผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ทุกสาขาต่างประมวลความรู้และนำเสนอคุณค่าของการออกกำลังกายไว้น่าสนใจ เช่น การออกกำลังกายมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองคนเราโดยเฉพาะเด็กวัย 3 ขวบแรกของชีวิตที่เซลล์สมองจะสร้างใยประสาท เมื่อเส้นใยประสาทเชื่อมต่อกันมากพอเหมาะ เด็กจะฉลาด การที่ใยประสาทจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จะต้องอาศัยการออกกำลังกายเป็นสำคัญประการหนึ่ง ขณะ เดียวกันเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ว่าผู้ที่ออกกำลังกายจะเป็นผู้ที่มีความสุข เพราะขณะที่ร่าง กายเคลื่อนไหว จะเกิดแรงกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารดีสร้างความสุขให้ตัวเรา จิตใจจะผ่อนคลาย และเมื่อออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะแข็งแรงมีผลให้รูปร่างลักษณะของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีความเหมาะสม คือ การทรงตัวดี กระดูกแข็งแรง ไม่มีไขมันเพราะร่างกายได้ฝึกซ้อมการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ การทำงานของอวัยวะจะสัมพันธ์กันและทำ งานเป็นปกติ เช่น ระบบขับถ่ายของเสีย ทั้งถ่ายหนัก ถ่ายเบา การขับเหงื่อออกจากผิวหนัง หรือการที่ร่างกายนอนหลับเมื่อถึงเวลาพักผ่อน เกิดจากการที่ร่างกายปรับความสมดุลของร่างกายให้ดี ขณะนอนหลับไตจะทำงานขับของเสียออกจากร่างกาย และขณะเดียวกันร่างกายจะมีพลังเพิ่มขึ้น หากเราพักผ่อนได้เต็มที่ เมื่อตื่นนอนเราจะรู้สึกสดชื่นพร้อมจะดำเนินชีวิตต่อไป และทำให้ร่างกายมีความแข็งแรง ครูจัดกิจกรรมกลางแจ้งให้ลูกที่โรงเรียนอย่างไร?
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้เสนอแนะกิจกรรมกลางแจ้งสำหรับเด็กปฐมวัยให้ครูจัดไว้ดังนี้ การเล่นเครื่องเล่นสนาม การเล่นเครื่องเล่นสนามจะส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกาย พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เพราะเด็กจะได้ปีนป่าย หมุน โยก ฯลฯ ทางสถานศึกษาควรจัดเครื่องเล่นสนามประเภทต่างๆ ดังนี้คือ เครื่องเล่นปีนป่ายหรือตาข่ายสำหรับปีนเล่น เครื่องเล่นสำหรับหมุน เช่น ม้าหมุน พวงมาลัยรถสำหรับหมุนเล่น ราวโหนขนาดเล็กสำหรับเด็ก ท่อนไม้สำหรับทรงตัวหรือไม้กระดานแผ่นเดียว เครื่องเล่นประเภทล้อเลื่อน เช่น รถสามล้อ รถลากจูง เป็นต้น การเล่นทราย การจัดทรายให้เด็กเล่นเป็นการตอบสนองธรรมชาติของเด็กปฐมวัยที่ชอบเล่นจับสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว และสร้างสรรค์ตามจินตนาการ ทรายจึงเป็นสิ่งที่เด็กชอบเล่น ทั้งทรายที่เปียกน้ำ ทรายแห้ง เด็กจะเล่นก่อเป็นรูปร่างต่างๆ และสมมติว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งที่เป็นจริงและเป็นสิ่งที่คิดเอาเอง บางครั้งเด็กต้องการสิ่งของนำมาประกอบเรื่องราว เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ เปลือกหอย ช้อนตักทราย พิมพ์ขนม เป็นต้น การจัดทรายไว้กลางแจ้ง โรงเรียนมักจัดทำเป็นบ่อเพื่อจัดเก็บทรายมิให้กระจัดกระจาย มีหลังคาหรือตาข่ายรองรับใบไม้ที่ร่วงหล่นมา มีรั้วรอบขอบชิดป้องกันสัตว์เข้าไปถ่ายมูลและทำสกปรก การเล่นน้ำ การจัดให้เด็กเล่นน้ำเป็นการตอบสนองธรรมชาติของเด็กปฐมวัยเช่นเดียวกับการจัดทรายให้เด็กเล่น เด็กพอใจที่ได้เล่นน้ำเพราะเด็กใช้น้ำสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่เด็กคิด และเด็กได้ผ่อนคลายความเครียดจากการเล่นน้ำ นอกจากนี้การเล่นน้ำเด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติของน้ำด้วย เช่น น้ำเป็นของเหลว น้ำผสมกับสิ่งต่างๆ ได้ การเล่นสมมติในบ้านจำลองหรือบ้านตุ๊กตา จัดให้คล้ายบ้านจริง ใช้วัสดุที่นำมาจากเศษวัสดุประเภท ผ้าใบ กระสอบป่าน ของจริงที่ไม่ใช้แล้ว เช่น หม้อ เตา ชาม อ่าง เตารีด เครื่อง ครัว ตุ๊กตาสมมติเป็นบุคคลในครอบครัว เสื้อผ้าผู้ใหญ่ที่ไม่ใช้แล้ว สำหรับตกแต่งบริเวณคล้ายบ้านจริงๆ บางครั้งอาจจัดเป็นร้านค้าขายของ หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เด็กเล่นสมมติตามจินตนาการของเด็กเอง การเล่นในมุมช่างไม้ เด็กต้องการการออกกำลังในการเคาะ ตอก กิจกรรมการเล่นในมุมช่างไม้นี้เพื่อจะช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรง ช่วยฝึกการใช้มือและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา นอกจากนี้ฝึกให้รักงานและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย การเล่นกับอุปกรณ์กีฬา เป็นการนำอุปกรณ์กีฬามาให้เด็กเล่นอย่างอิสระ หรือใช้ประกอบการเล่นเกมการเล่นที่ให้อิสระกับเด็ก หากมีการแข่งขัน จะไม่เน้นการแข่งขันแบบมีแพ้มีชนะ อุปกรณ์ที่ครูนิยมนำมาให้เด็กเล่นคือ ลูกบอล ห่วงยาง ถุงทราย ฯลฯ เพราะเหมาะกับเด็กปฐมวัย การเล่นเกมการละเล่น เกมการละเล่นที่ครูจัดให้เด็กปฐมวัยเล่นมักเป็นเกมง่ายๆ ทั้งการละเล่นของไทยและการละเล่นสากลที่รู้จักกันทั่วไป และเกมที่ครูประยุกต์ให้เข้ากับหน่วยการสอนที่กำหนดให้เด็กเรียนซึ่งนำมาจากหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรสถานศึกษา โดยครูจัดให้เล่นในพื้นที่โล่งกว้าง ส่งเสริมให้เด็กเล่นทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ เป็นเกมสนุกสนานมากกว่าการแข่งขันแพ้ชนะ เพื่อมิให้เด็กเครียดและรู้สึกไม่ดีต่อตนเองที่แพ้หรือไม่ประสบความสำเร็จ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยส่งเสริม/เพิ่มเติมให้ลูกได้อย่างไร?
การเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัยแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไป พ่อแม่สามารถส่งเสริมลูกด้วยการจัดกิจกรรมการเล่นให้สอดคล้องตามวัยดังนี้ เด็กวัย 1-3 ปี ความเจริญเติบโตทางกระดูกจะเพิ่มทั้งขนาดและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว กล้ามเนื้อใหญ่โตเร็ว แต่กล้ามเนื้อเล็กยังไม่เจริญ ความเจริญของเส้นประสาทเพิ่มจำนวนทำให้มีการเจริญทางสมอง เด็กชอบเล่นคนเดียว ชอบเล่นเลียนแบบ กิจกรรมที่ควรจัดคือ กิจกรรมประเภทดึง ผลัก ดัน ปีนป่าย เดิน เหวี่ยง ทุ่ม กระโดด วิ่ง เลียนแบบสัตว์ เครื่องจักร รถยนต์ รถไฟ กิจกรรมการเล่นกับทราย ดิน วิ่งสไลด์หรือวิ่งอิสระ เด็กวัย 4-5 ปี กระดูกเจริญช้ากว่าเด็กวัย 1-3 ปี กระดูกเหนียว ไม่เปราะบาง กล้ามเนื้อใหญ่เจริญเติบโตโดยเฉพาะส่วนแขน ขา ลำตัว ความสนใจเล่นกิจกรรมเวลาสั้นๆ ชอบทำตามใจตนเอง ไม่ชอบรวมพวก ยังชอบเลียนแบบ มีพลังหรือกำลังเหลืออยู่มากมาย ต้องการเล่นที่ใช้กำลัง กิจกรรมที่พ่อแม่จัดควรเน้นหนักไปในทางนันทนาการ ให้กล้ามเนื้อใหญ่ ส่วนแขน ส่วนขาทำงาน เช่น ให้ควบม้า กระโดด วิ่ง เป็นต้น หากสอนเกมควรใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เกมที่เล่นควรเปลี่ยนบ่อยๆ ให้โอกาสเด็กเล่นตามลำพังบ้าง ให้เล่นเลียนแบบสัตว์ วัตถุ สิ่งของ เช่น เดินเป็ด เดินไก่ นกบิน รถยนต์ รถไฟ เป็นต้น ส่วนการส่งเสริมให้ใช้พลังมากๆ เช่น ควบม้า วิ่งสไลด์ การเดินตามจังหวะเพลง เป็นต้น เด็กวัย 6 ปี กระดูกเจริญเร็ว ความสูง 2-3 นิ้วต่อปี ช่วงขายาว กล้ามเนื้อเจริญเร็วมาก ทรวดทรงแสดงให้เห็นเด่นชัด หัวใจเต้นเร็ว สามารถทรงตัวได้ดี ต้องการกิจกรรมประเภทเคลื่อนไหว ชอบส่งเสียงดัง กิจกรรมการเล่นที่ช่วยด้านความสูง คือ ห้อยโหน เลี้ยงบอล เล่นเดินทรงตัว เช่น เดินบนราว เดินโดยมีวัตถุวางบนศีรษะ และควรให้พักผ่อนประมาณ 12 ชั่วโมง


วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กิจกรรมสร้างสรรค์

กิจกรรมสร้างสรรค์ (Creative Activities)
บทนำ
                 กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเพื่อพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ การรับรู้ความงาม ให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์หรือ ความรู้สึก ความคิดริเริ่มสร้าง สรรค์ และจินตนาการโดยใช้ศิลปะสำหรับเด็กหลากหลายแบบ เช่น การเขียนภาพ การปั้น การฉีกปะ การตัดปะ การพิมพ์ภาพ การปั้น การร้อย การประดิษฐ์ หรือวิธีอื่นๆ ที่เด็กสามารถจะคิดสร้างสรรค์ได้และมีความเหมาะสมตามวัยของเด็ก


กิจกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร?
                       วิทยาการทางด้านสมองทำให้เราทราบได้ว่า คนเรามีศักยภาพทางการคิด เกิดจากสมองทั้ง 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวาของเราทำงานและพัฒนาการคิดตัดสินใจ และคิดสร้างสรรค์ สมองทั้งสองซีกจะทำงานเชื่อมโยงไปพร้อมกันในทุกกิจกรรมการคิด การพัฒนาสมองของเด็กจึงจัดผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้สมองทั้งสองซีกทำงานสมดุล กิจกรรมสร้างสรรค์จึงเป็นกิจกรรมที่จะช่วยเชื่อมโยงการทำงานของสมองและพัฒนาจินตนาการซึ่งสัมพันธ์กับประสบการณ์ของเด็ก เด็กจะแสดงออกมาเป็นภาพ รูปร่าง และรูปทรง จึงเป็นโอกาสที่เด็กจะได้ฝึกสมองจากกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีหลากหลายแบบ เป็นการให้เด็กกระทำ และสังเกตซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ตรงให้เด็ก เด็กจะเกิดความสามารถในการพัฒนาความคิดรวบยอดและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้ต่อไป อีกทั้ง กิจกรรมสร้างสรรค์ยังสามารถพัฒนาจิตเด็กได้อย่างมีคุณภาพ คือให้เป็นผู้มีความอดทนเพราะต้องสร้างสรรค์ผลงานของตนจนสำเร็จ จะสร้างความภูมิใจต่อตนเองหรือสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองได้ เนื่องจากการเปิดโอกาสให้เด็กพึ่งตนเองในการทำสิ่งต่างๆ ตามความสามารถ เป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงความมีคุณค่าในตนเอง เด็กจะเป็นผู้มีความมั่นใจและกล้าที่จะผจญปัญหา ในขณะเดียวกัน เด็กจะได้รับการพัฒนาทางสังคม เพราะเด็กจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อน เด็กจึงเรียนรู้การแก้ปัญหาการทำงาน รู้จักปรับปรุงหรือเปลี่ยน แปลงตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม เมื่อเด็กสร้างผลงานสิ้นสุดแล้ว การชักชวนให้เด็กชื่นชมผลงานของตนเอง เป็นการปลูกจิตสำนึกเด็กให้เห็นคุณค่าของศิลปะที่ตนสร้างขึ้น และฝึกฝนการแสดงความชื่นชมในความสวยงาม สร้างความเพลิดเพลินและความสุขจากสิ่งใกล้ๆ ตัวเด็กเอง


กิจกรรมสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร?
                        การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดสาระการเรียนรู้ไว้ ซึ่งประกอบเป็น 2 ส่วน คือ ประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ ทั้งสองส่วนใช้เป็นสื่อกลางในการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยครอบคลุมพัฒนาการเด็ก 4 ด้านดังนี้ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อเล็ก จากการเขียนภาพและการเล่นสี เช่น กิจกรรมเขียนภาพด้วยสีเทียน สีน้ำ เป่าสี ทับสี ปั้นดินเหนียว ดินน้ำมัน งานประดิษฐ์จากเศษวัสดุ เป็นต้น ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ เป็นประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ เด็กมีโอกาสชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม เช่น กิจกรรมเขียนภาพตามความคิดสร้างสรรค์ แสดงความคิดเห็นต่อผลงานศิลปะ ฯลฯ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม เป็นประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้ทางสังคม ด้วยการเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการวางแผน ตัดสินใจเลือกและลงมือปฏิบัติ ให้เด็กมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึก ความสนใจ ความต้องการของตนเองและผู้อื่น เช่น การเลือกทำกิจกรรมศิลปะตามความสนใจ การฟังความคิดเห็นของเด็กคนอื่น การรู้จักรอคอยที่จะใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น การรู้จักแบ่งปันวัสดุ ของใช้ เป็นต้น ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นประสบการณ์ที่ส่งเสริมความคิดของเด็ก เกี่ยวกับการรับรู้ และการแสดงความรู้ผ่านสื่อ วัสดุ และผลงาน เช่น การวาดภาพ ระบายสี ปั้นดิน ประดิษฐ์ ส่งเสริมด้านการใช้ภาษาและด้านการเขียนในหลายรูปแบบผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายต่อเด็ก และการสื่อความหมายของมิติสัมพันธ์ด้วยภาพวาด เช่น การให้เด็กเขียนภาพนิทาน วาดภาพด้วยสีเทียน สีน้ำ เป็นต้น


วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การจัดกิจกรรม

กิจกรรมเคลื่อไหวเด็กปฐมวัย




            กิจกรรมการเคลื่อนไหว ที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย
               กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย ได้แก่ กิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น การร้องเพลง การเล่นกับเครื่องเคาะจังหวะดนตรีอย่างง่าย เป็นต้น เด็กจะสนุกกับกิจกรรมที่เขาได้ฟังจังหวะ ได้ใช้ภาษาในการร้องเพลง กิจกรรมการเคาะเครื่องเคาะจังหวะดนตรีจึงเป็นพื้นฐานของเด็กในการที่จะพัฒนาการดนตรีของเขาให้ดีขึ้นในอนาคต เด็กมีความสามารถ รู้จักเครื่องเคาะจังหวะแต่ละประเภท สามารถเรียกชื่อได้ถูกต้องโดยครูหมุนเวียนให้เด็กทุกคนได้ใช้เครื่องเคาะจังหวะในแต่ละรอบของการร้องเพลง เด็กๆ ส่งเสียงร้องเพลงให้แตกต่างจากเสียงพูด พวกเขาตจะร้องเพลงได้ชัดเจนไม่เพี้ยน รู้จักจังหวะ เร็ว-ช้า พลังเสียง ดัง-เบา เด็กจะเกิดสมาธิในการฟังและการจำแนกเสีย

กิจกรรมการเคลื่อนไหว ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสุขภาพและพลานามัยของเด็กปฐมวัย  
                       การเล่นเครื่องดนตรีหรือการร้องเพลงของเด็กไม่เพียงแต่นั่งร้องหรือขับร้องเท่านั้น แต่เด็กทุกคนขอบ และพอใจที่จะทำท่าทางประกอบไปด้วย เนื่องจากเด็กในระดับปฐมวัยชอบเปลี่ยนอิริยาบถของการเคลื่อนไหว กระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะท่วงทำนองของเพลง ดังนั้นครูจึงสามารถใช้เพลงและดนตรีเป็นสิ่งเร้าเพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่การเคลื่อนไหวกับดนตรี การเคลื่อนไหวหรือการเต้นรำ เป็นการส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่กล้ามเนื้อเล็ก แขน ขา ลำตัว นิ้วมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรี อีกทั้งเป็นการช่วยพัฒนาให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง และพลานามัยที่สมบูรณ์ อันจะเป็นผลเชื่อมโยงไปสู้จุดมุ่งหมายทางการศึกษาปฐมวัย ที่มุ่งให้เด็กปฐมวัยพัฒนาครบทุกด้านทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทักษะด้านคิดแก้ปัญหา และทักษะชีวิตที่เด็กได้รับความรู้ประสบการณ์ซึ่งจะช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
กิจกรรมการเคลื่อนไหว ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสังคม 
                      เสียงเพลงและดนตรีมีส่วนช่วยในการปรับความรู้สึกและอารมณ์ของเด็กให้เกิดความพึงพอใจ ผ่อนคลาย และเกิดความสุขสบาย ฉะนั้นการที่เด็กได้ฟังเสียงดนตรีที่มีทำนองสนุกสนาน เพลิดเพลิน ช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่น มีความไว้วางใจในสิ่งแวดล้อมใหม่ มีความสุขในการเรียน การทำงาน และสามารถที่จะปรับตัวในลักษณะที่เหมาะสมเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น จะสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออกเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากขึ้น มีพฤติกรรมทางสังคมที่ดี มีความสามัคคีร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ทางหนึ่งและยังเป็นการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในห้องเรียน นอกจากนี้ดนตรียังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัยได้อีกด้วย